“อนันต์ อัศวโภคิน” อสังหาฯแพ้ชนะอยู่ที่”กำไร-ต้นทุนบริหาร”

“อนันต์ อัศวโภคิน” อสังหาฯแพ้ชนะอยู่ที่กำไร-ต้นทุนบริหาร

ในภาวะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกและภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวมากนัก

อนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย อดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครืออีกมากมาย เจ้าของวลี อันดับ ไม่สำคัญเท่า กำไร”  สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงภาวะตลาดมีความผันผวนมาก

ปัจจัยหลักที่กระทบกับภาคอสังหาฯ ยังเป็นปัญหาเดิมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว  คือ การที่สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างมาก เพราะหนี้สินเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราการถูกปฎิเสธสินเชื่อสูงถึง 30-50%  โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มอาชีพอิสระ หรือค้าขายที่เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ เพราะไม่มีการแสดงรายได้ชัดเจน ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องให้ลูกค้ามาผ่อนเอง เนื่องจากไม่สามารถหาสถาบันการเงินมารองรับได้

ขณะที่หนี้เสียในภาคธนาคารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหนี้จากการผ่อนบ้าน ที่แม้จะผ่อนไปแล้ว 4 ถึง 5 ปี ยังกลายเป็น NPL  (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้)  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากการวางเงินดาวน์น้อยและการแข่งขันด้านสินเชื่อ ทำให้ธนาคารกลับมาเข้มงวดเรื่องการวางเงินดาวน์และการปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง

“การปฎิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงิน (รีเจค)  แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขจะเริ่มเป็นอัตราคงที่ ไม่เหมือนกับปีที่ผ่าน ยอดรีเจคเพิ่มขึ้นในแบบอัตราเร่ง เมื่อก่อนผ่อนบ้าน 3 ปีขึ้นไปมั่นใจได้ว่าปลอดภัย แต่เดี๋ยวนี้ผ่อนไป 5-6 ปี ยังทิ้งบ้าน เพราะเงินดาวน์ต่ำ หรือไม่มีเงินดาวน์ เมื่ออยู่มา 5 ปีแล้ว เหมือนการเช่าบ้าน”

แนวทางการปรับตัว อนันต์ แนะว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ต้องกลับไปพิจารณาตัวเลข 2 ตัว คือ ต้นทุนการบริหาร ( (Overhead)  กับ กำไรขั้นต้น ( Gross profit)  การทำธุรกิจอสังหาฯ จะแพ้ชนะ อยู่แค่นี้ คือ “ ต้นทุนการบริหาร” และ”กำไร”  จะเห็นว่าบางบริษัทมีกำไร 28%  แต่อีกบางบริษัทมีกำไร  35% ต่างกัน 7% แล้ว  ขณะที่ต้นทุนการบริหาร  บางบริษัทอยู่ที่ 20% บางบริษัทต้นทุนบริหารต่ำสุดอยู่ที่ 10% ตัวเลขต่างกัน 10% ถือว่ามาก

ขณะที่กำไรสุทธิ (Net profit) บริษัทหลายรายอยู่ที่  7-8% แต่บางบริษัทอยู่ที่ 15% ต่างกันมาก บริษัทที่มีกำไรสุทธิ  15%  ทำแค่โครงการเดียว  แต่เท่ากับอีกบริษัทต้องทำถึง 2 โครงการ เพราะมีกำไรสุทธิแค่ 8%

“ผู้ประกอกการมีแรงกดดันหลายด้าน ทั้ง สถาบันการเงิน กำหนดให้มียอดขายไม่ต่ำ 60-70% ถึงจะปล่อยสินเชื่อให้  บางครั้งผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องลดราคาขายเพื่อให้ยอดขายได้ตามเป้า ทำให้กำไรลดลง ดังนั้น ทำอย่างไรที่ให้ต้นทุนการบริหารลดลง ก็ต้องมามองเรื่องการบริหารจัดการ ระบบไอที เป็นต้น”

ส่วนภาพรวมอสังหาฯในปีนี้ ตอบยาก เพราะขณะนี้ยังมีเงินฝากล้นธนาคารอยู่ ขณะที่หลายบริษัทยังสร้างสามารถรายได้และก็กำไรได้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในปีนี้จะเป็นปีที่มีกำไรมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ตอนนี้จึงอยู่ที่ใครปรับตัวเก่งและทันต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาก” อนันต์ กล่าว

เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น จากการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียน และเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการพัฒนามีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มประชากร ทั้งด้านอายุ รายได้ รสนิยม รวมถึงเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการอสังหาฯต้องรู้เท่าทันแนวโน้มต่างๆเหลานี้

บทความและเรียบเรียงโดย :  กัญสุชญา สุวรรณคร (บรรณาธิการข่าว PropDNA)