พลังทุน “จีน”ทะลัก ลงทุนอสังหาฯไทยกว่า2แสนลบ.

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ยังคงเนื้อหอม จะเห็นทัพนักลงทุนต่างชาติเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ในแต่ละปีนั้นมีมากขึ้นทุกปี  ก่อนหน้านี้อาจจะเห็นแต่นักลงทุนต่างชาติที่มาจากประเทศ “ญี่ปุ่น สิงคโปร์” แต่นับตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา เป็นการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่จากญี่ปุ่น ที่เริ่มเข้ามาหาพันธมิตรเพื่อร่วมทุนในการพัฒนาโครงการอสังหาฯในประเทศไทย นำโดยมิตซุย ฟูโดซังที่จับมือกับอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และมิตซูบิชิ เอสเตทที่จับมือกับทางเอพี (ไทยแลนด์) จากนั้นก็มีตามมาอีกหลายรายที่เข้ามาร่วมมือกันโดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเกือบทุกรายนั้นมาจากประเทศญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น

แต่ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการจากประเทศ “จีน” เข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาฯเมืองไทยมากขี้น จนปัจจุบันกลายเป็นผู้ลงทุนอันดับสองของตลาดอสังหาฯมืองไทยไปแล้ว

สุรเชษฐ กองชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาด บริษัท ไรส์ แลนด์(ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจากประเทศจีนเริ่มเข้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายมาควบคุมการลงทุนอสังหาฯนอกประเทศจีนก็ตาม แต่นักลงทุน ผู้ประกอบการจากประเทศจีน หรือคนจีนก็ยังคงหาช่องทางเพื่อจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง  แต่การเข้ามาร่วมทุนอาจจะแตกต่างจากผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้บริหารกิจการทุกอย่างในบริษัทร่วมทุนเอง

การที่ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสนใจต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้นเพราะมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในระยะยาว แม้ว่ากำลังซื้อคนไทยจะลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมองในระยะยาวว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาดีขึ้นและประเทศไทยยังเป็นประเทศที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีๆ นอกจากนี้การที่ชาวต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมได้ถึง49% ของพื้นที่ขายก็เป็นอีกปัจจัยบวกในการดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง

ล่าสุดการที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประกาศใช้และมีผลให้ที่ดินที่ขอเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนั้น ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นได้รวมไปถึงผู้ประกอบการต่างชาติสามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายชาวต่างชาติได้ 100% ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้สร้างความน่าสนใจให้กับผู้ประกอบการไทยและต่างชาติอย่างแน่นอน

ทำเลที่ผู้ประกอบการต่างชาติส่วนใหญ่เลือกลงทุนในประเทศไทยนั้นยังคงเป็นกรุงเทพฯมากที่สุด เพราะเป็นทำเลที่มีความพร้อมอีกทั้งยังเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติอยู่แล้ว การเดินทางภายในกรุงเทพฯ ก็สะดวกสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งทำเลหลักๆ ในกรุงเทพฯนั้นยังคงเป็นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน ไม่ค่อยมีโครงการที่เป็นโครงการร่วมทุนของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติเปิดขาย  ในพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอก ส่วนใหญ่เลือกทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในพื้นที่ตามแนวถนนสุขุมวิท รัชดาภิเษก สีลม สาทร พระราม 9 เท่านั้น อาจจะเป็นเพราะว่าผู้ประกอบการต่างชาติต้องการพัฒนาโครงการในทำเลที่ชาวต่างชาติรู้จักก่อนเป็นหลัก

หากย้อนไป 4 -5 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มทุนจีน เข้ามาลงทุนอสังหาฯ มีมากกว่า 14 โครงการ มาแบบลงทุนด้วยตนเอง กับรวมทุนกับหุ้นส่วนคนไทย รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เช่น

  1. ปริญสิริ ที่ประกาศว่ากำลังเจรจากับนักลงทุนจีนเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมแถวถนนรัตนาธิเบศร์
  2. บมจ.เจ.เอส.พี. ก็มีแผนจะพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่บางเสร่ ร่วมกับกลุ่มทุนจีน บริษัท จงเทียน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป และโครงการเอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ มูลค่า1.5 หมื่นล้านบาท
  3. บมจ. ชาญอิสสระ ที่ร่วมกับกลุ่มทุนจีนบริษัท จุนฟา ในการพัฒนาโครงการBaba Beach ในจังหวัดพังงาบริเวณหาดนาใต้ มูลค่าประมาณ3,000 ล้านบาท เปิดตัวไปแล้วในปี2560
  4. บริษัท คันทรี่กรุ๊ป ได้ร่วมทุนกับ BCEG  ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของจีน ในการพัฒนาโครงการLandmark Waterfront ภายใต้การลงทุนกว่า10,000 ล้านบาท
  5. China Tianchen Engineering Corporation (CTCC) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีนที่เข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยร่วมกับครอบครัวอุชุปาละนันทน์ เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมโครงการแรกคือ The Artemis แถวอ่อนนุช ซึ่งเป็นโครงการสร้างเสร็จก่อนขาย
  6. Tienchen เป็นบริษัทร่วมทุนที่มีคนไทย 60% และที่เหลือเป็นของนายติง หลงเหมา ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัท Tiancheng ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ TC Green ที่ถนนพระราม 9 และปี 2560 กำลังจะมีโครงการใหม่ชื่อ TC Royal บนที่ดินที่ติดกับตึกชำนาญเพ็ญชาติ แถวแยกพระราม 9
  7. Gordon Brother บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากประเทศจีนที่เปิดขายโครงการThe Prodigy ที่เพชรเกษม 62 มูลค่าโครงการกว่า 3,200 ล้านบาท
  8. Plateno group จากประเทศจีนเข้ามาเปิดโรงแรมในชื่อ7 Days Inn 3แห่งในจังหวัดเชียงใหม่
  9. Home City Group จากประเทศจีนเข้ามาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมชื่อMiracle Hua Hin ที่หัวหิน โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ3,200ล้านบาท เป็นโครงการคอนโดมิเนียม และบ้านพักตากอากาศแบบพูลวิลล่า
  10. บริษัท รอยัล ลี แอสเสท จำกัด จากประเทศจีนเข้ามาพัฒนาโครงการมิกซ์-ยูสในภูเก็ต ใกล้กับสนามบินมูลค่าโครงการประมาณ 7,800 ล้านบาท
  11. บริษัท เซิ่งตี๋เจีย กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับนักลงทุนไทยตั้งบริษัท ชัยพัฒนากรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม เดอะ ซี อินฟินิตี้คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้ามูลค่าโครงการการกว่า2,000 ล้านบาทเป็นคอนโดมิเนียมสูงทั้งสิ้น 32 ชั้น มีเนื้อที่ 9 ไร่ มูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียมหรูสไตล์โมเดิร์นรับวิวทะเล เข้าถึงความเป็นธรรมชาติ โปร่งสบาย จำนวน 832 ยูนิต บริเวณหาดแสงจันทร์ จังหวัดระยอง
  12. บริษัท เบสท์ กรุ๊ป จำกัดร่วมทุนกับบริษัท ไฮดู กรุ๊ป จำกัดจากประเทศจีนเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองส่งเสริมการค้าและศูนย์แสดงสินค้าระดับโลกที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ100,000 ล้านบาท
  13. บริษัท เดย์เกน กรุ๊ป ของกลุ่มทุนอสังหาฯจีน พัฒนาโครงการบัดเจ็ทคอนโด ย่านติวานนท์ มูลค่าโครงการ700 ล้านบาท
  14. บริษัท ยูนิเวอร์ เซล พลัส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือยูนิเวอร์เซลกรุ๊ป และบริษัท ฮงไทย เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด เข้ามาร่วมทุนกับคน ไทย พัฒนาบ้านจัดสรร ย่านจอมทอง

##

คอนโดกรุงเทพฯครองอันดับ2ชาวจีนสนใจซื้อลงทุน

        ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท  บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นอกจากต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการแล้ว ยังพบว่ามีการซื้ออสังหาฯของต่างชาติเพื่อการอยู่อาศัยและ ลงทุนปล่อยเช่า ในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อลงทุน

    “ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยยังคงให้ความสนใจหรือว่าเลือกลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมมากที่สุด เพราะว่าเป็นรูปแบบโครงการที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อในชื่อของตัวเองได้”

ถ้ามองในระยะยาวแล้วประเทศไทยยังน่าสนใจอยู่ดี โดยผู้ประกอบการจากประเทศจีนนั้นมีรูปแบบการเข้ามาร่วมทุนที่แตกต่างจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นเพราะผู้ประกอบการจีนนั้นต้องการที่จะบริหารบริษัทร่วมทุนและโครงการแบบเบ็ดเสร็จต่างจากผู้ประอบการญี่ปุ่นที่ยินยอมให้หุ้นส่วนไทยเป็นคนบริหารจัดการ

จากการสำรวจโดย Juwai.com กรุงเทพฯได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 2 ของตลาดอสังหาฯที่ดึงดูดที่สุดสำหรับผู้ซื้อชาวจีนที่สนใจอสังหาฯต่างชาติ ทั้งจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การเป็นหนึ่งในสถานที่เป้าหมายหลักภายใต้นโยบาย One Beit One Road ของจีน ตลอดจนราคาอสังหาฯที่ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง

    ##