มองตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 โดย คุณอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด

มองตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 โดย คุณอลิวัสสา พัฒนถาบุตร

กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด 

สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะโซนสุขุมวิท ต่อ CBD อื่นๆ ปลายปีที่ผ่านมา เทียบกับปี2562 และ ทำเลทอง คอนโด Demand vs Supply โซนสุขมวิทยังคงเป็นทำเลที่นิยมของตลาดที่อยู่อาศัย และตลาดเช่า เนื่องจากใกล้เส้นรถไฟฟ้า และราคาของคอนโดมิเนียมในสุขุมวิทปัจจุบันสูงมาก หลายๆโครงการเปิดตัวที่ราคากว่า 250,000 บาทต่อตารางเมตร จากที่มีโครงการเปิดใหม่หลายแห่งในเส้นสุขุมวิท โดยเฉพาะโซนสถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์ และทองหล่อ ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในทำเลเดียวกันจำนวนมาก ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องหาทำเลที่มี Supply น้อยลง และอยู่ในราคาที่จับต้องได้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจเลือกซื้อ

สำหรับตลาดที่อยู่อาศัย ที่จะมาแรงในปี 2562 คืออสังหาริมทรัพย์แนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม โดยเน้นไปในโซน mid-town และชานเมืองมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในใจกลางเมือง ทำให้ทำเลใน CBD ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมระดับซุเปอร์ลักชัวรี่ และ Branded Residence ซึ่งมีราคาสูง แนวโน้มของอสังหาฯ ปี 2562 นั้น ราคา ทำเล และรูปแบบของโครงการ คือสิ่งที่ผู้พัฒนาจะต้องปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค คอนโดมิเนียมประเภท Low-rise จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยในเมือง และราคาไม่สูงมากนัก ด้านราคาที่ดินยังคงสูงขึ้น โดยเฉพาะตามเส้นรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่กำลังก่อสร้าง และอาจมีโอกาสเห็นการซื้อขายที่ดินราคาเกินสามล้านบาทต่อตารางวาในทำเลเดิม คือ ใจกลางลุมพินี เนื่องจากมีที่ดินแบบ Freehold เหลือไม่มากแล้ว

สำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้บริโภคมีตัวเลือกในตลาดมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ผู้บริโภคมองคอนโดมิเนียมมากกว่าการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น แต่ต้องเป็นการลงทุนที่ดีด้วย เน้นเรื่องมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งต่างจากเดิมที่จะมองแยกสองด้าน คือ มองว่าคอนโดมิเนี่ยมที่จะซื้อนั้นเหมาะกับอยู่เอง หรือ มองว่าจะซื้อเพื่อปล่อยเช่าหรือขายต่อ ผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร ทางด้านผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาขายไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อชูความแตกต่างของแต่ละโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นของผู้บริโภค