อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก เผยรายได้รวม 26 พันล้านบาท ห้างค้าปลีกเฟอนิเจอสัญชาติสวีเดนมียอดขายออนไลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โตเกินสองเท่า ในปีที่ต้องรับมือวิกฤติใหญ่จากภัยโควิด

อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก เผยรายได้รวม 26 พันล้านบาท
ห้างค้าปลีกเฟอนิเจอสัญชาติสวีเดนมียอดขายออนไลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โตเกินสองเท่า ในปีที่ต้องรับมือวิกฤติใหญ่จากภัยโควิด
   

กรุงเทพฯ – อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก ประกาศรายได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษของการเติบโตและขยายตัวทางธุรกิจ ปิดปีงบประมาณที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ด้วยรายได้รวม 26 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน วิกฤติโควิดได้เร่งให้บริษัทเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกธุรกิจแบบดิจิทัลเร็วขึ้น ผลจากความนิยมในการแต่งบ้านที่พุ่งขึ้นอย่างล้นหลามช่วงล็อกดาวน์

“วิกฤติโควิดเปลี่ยนความคิดและค่านิยมที่หลายคนมีต่อการใช้ชีวิตในบ้าน” คริสเตียน รอยเคียร์ กรรมการผู้จัดการอิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก กล่าว “เมื่อต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันอย่างกะทันหัน หลายคนมาที่อิเกียเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์และของใช้ไปแต่งโฮมออฟฟิศ มุมอ่านหนังสือ พื้นที่พักผ่อนกลางแจ้ง และครัวที่ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านของตนเอง หลายคนตระหนักว่า บ้านมีความหมายและสำคัญต่อพวกเขามากแค่ไหน และเห็นว่ามันคุ้มที่จะลงทุนเพื่อทำให้บ้านที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน เป็นที่ที่เราจะอยู่อาศัยได้อย่างสบาย ตอบโจทย์การใช้งาน และมีรูปลักษณ์สวยงาม”

สโตร์อิเกียทั้ง 9 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท มียอดขายรวม 22.4 พันล้านบาท ในช่วงเดือนกันยายน 2562 – สิงหาคม 2563 ลดลงจากยอดขายในปีงบประมาณที่ผ่านมา 7.4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วยสโตร์หลายแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว โดยบางแห่งปิดให้บริการไปนานถึงสองเดือนครึ่ง ทั้งยังต้องเผชิญความท้าท้ายในเรื่องการจัดหาสินค้า และการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการภายในสโตร์เพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย เมื่อรวมกับรายได้จากศูนย์การค้า ในเครือที่เชื่อมต่อกับสโตร์อิเกียอีก 5 ศูนย์ (ทั้งหมดบริหารงานโดยอิคาโน่ เซ็นเตอร์ส ซึ่งมีการเยียวยาค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าจำนวนหลายร้อยรายที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้น) ทำให้บริษัทมีรายได้รวม 26 พันล้านบาท น้อยกว่าปีก่อน 2 พันล้านบาท

อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก เป็นหนึ่งใน 12 แฟรนไชส์อิเกียที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมีสโตร์เปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ควบคู่ไปกับศูนย์การค้าในเครืออิคาโน่ เซ็นเตอร์ส ซึ่งปัจจุบันมีผู้เช่าประมาณ 1,500 ราย ภายใต้พื้นที่ให้เช่า 4 ล้านตารางฟุต บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงคนทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยการให้บริการเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้าน รวมถึงมีทบอลต้นตำรับสวีเดนในสโตร์ที่จะเปิดให้บริการในประเทศเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองแห่งจะเปิดให้ลูกค้าช้อปออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ได้ล่วงหน้าหลายเดือนก่อนที่จะได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์ช้อปเต็มรูปแบบในสโตร์

หลังให้บริการอีคอมเมิร์ซในสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม สโตร์อิเกียในทั้งสามประเทศยังสามารถจำหน่ายสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานแก่ลูกค้าได้แม้ในช่วงที่ต้องปิดหน้าร้านไปเป็นเวลานาน โดยได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ พนักงานร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งระบบปฏิบัติงานด้านการหยิบ แพ็ก และจัดส่งสินค้าเพื่อรองรับยอดสั่งซื้อจำนวนมากในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน แผนกที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม เพิ่มรอบจัดส่งสินค้า ปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่ให้รองรับยอดสั่งซื้อออนไลน์ที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละวัน เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ มียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เข้ามาทั้งหมดกว่า 525,000 ออเดอร์ คิดเป็นยอดขายออนไลน์กว่า 3.1 พันล้านบาท ซึ่งเกินสองเท่าของรายได้รวมจากอีคอมเมิร์ซของบริษัทในปีก่อนหน้า

สโตร์ในประเทศไทยได้เริ่มให้บริการ Click & Collect ช้อปออนไลน์และรับสินค้าได้ที่สโตร์ ขณะที่แผนกอาหารและเครื่องดื่ม ในสโตร์อิเกียทั้งในไทยและมาเลเซียหันหน้าจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ ขยายการให้บริการจัดส่งอาหารหลากหลายเมนู รวมถึง

มีทบอลต้นตำรับสวีเดนให้ลูกค้าอิ่มอร่อยได้ถึงที่บ้าน และหลายส่วนยังทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคเพื่อให้ความช่วยเหลือในการจัดส่งสินค้าและบริการให้แก่โรงพยาบาล หอพักแรงงานอพยพ ศูนย์พักพิง และองค์กรอื่นๆ ที่เป็นแนวหน้าในการรับมือวิกฤติโควิดในแต่ละประเทศ รวมมูลค่ากว่า 11.5 ล้านบาท

“วิกฤติครั้งนี้ดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของเราออกมา ปลุกจิตวิญญาณนักธุรกิจที่มีอยู่ในตัวพนักงานทุกคน ผลักดันให้ธุรกิจของเราพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว” คริสเตียน รอยเคียร์ กล่าว “เราทำงานกันภายใต้แรงกดดันมหาศาล อาจมีบ้างที่ไม่สามารถตอบความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างที่ตั้งใจ แต่ลูกค้าหลายคนก็เข้าใจกันเป็นอย่างดี เราแข็งแกร่งขึ้น และนี่เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่สุดในองค์กรของเรา รวมถึงความพยายามของทุกๆ คนที่จะทำเพื่อชุมชนและสังคมโดยรอบ”

ในแปดสัปดาห์ที่มีผู้มาใช้บริการสโตร์อิเกียและเว็บไซต์สูงที่สุดในแต่ละประเทศ ลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อโต๊ะอิเกียไปกว่า 212,000 ตัว เก้าอี้สำนักงาน 64,000 ตัว ยอดขายประจำปีของแผนกห้องทำงานพุ่งสูงขึ้นในทั้งสามประเทศ ในช่วง ล็อกดาวน์ ศูนย์การค้าทุกแห่งในเครือจำกัดการให้บริการเหลือเพียงส่วนที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และได้เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลับมาทยอยเปิดให้บริการ ทั้งยังได้รับเสียงชื่นชมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรักษาระยะห่างทางสังคม การเข้มงวดกวดขันในการทำความสะอาด จุดให้บริการวัดอุณหภูมิร่างกาย และมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ ที่นำมาใช้ในพื้นที่

บริษัทไม่มีนโยบายให้พนักงานแม้แต่เพียงคนเดียวต้องออกจากงานในช่วงล็อกดาวน์ และยังมีแผนที่จะจัดหาพนักงานใหม่ อีกกว่า 200 คนในประเทศสิงคโปร์ เพื่อเตรียมพร้อมเปิดให้บริการสโตร์อิเกีย Jurung ในปี 2564 ส่วนที่เม็กซิโกซิตี มีแผนจะเปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซทันทีที่เปิดสโตร์อิเกีย Oceania ในช่วงปีใหม่ และสโตร์อิเกียที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มะนิลา ก็มีกำหนด
จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2564 โดยออกแบบให้มีพื้นที่พร้อมรองรับการปฏิบัติงานด้านการหยิบ แพ็ก และจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซ รวมถึงศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า และในเวลาเดียวกันนี้ ก็มีทีมในประเทศเวียดนามที่กำลังเดินหน้าวางแผน เปิดสโตร์ในอนาคตอันใกล้

“เรื่องที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในตอนนี้ คือการดูแลพนักงานและลูกค้าของเราให้ปลอดภัย และเดินหน้าทำธุรกิจของเราต่อไป เพราะไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่วิสัยทัศน์ของเราซึ่งต้องการจะสรรค์สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้คนทั่วไปในทุกๆ วัน จะสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วไปได้มากเท่ากับในช่วงเวลานี้” คริสเตียน รอยเคียร์ กล่าวและเสริมว่า “อิเกียได้ปรับลดราคาสินค้าหลายร้อยรายการในแคตตาล็อกอิเกียเล่มใหม่ เพื่อให้สินค้าของเรามีราคาที่ย่อมเยายิ่งขึ้นอย่างที่คนทั่วไปจำนวนมากจะเลือกซื้อไปสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านได้ เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ดีขึ้นในทุกๆ วันอย่างแท้จริง”