ทิศทางการพัฒนางานก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ช่วยลดโลกร้อน”

ทิศทางการพัฒนางานก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ช่วยลดโลกร้อน”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มหันมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อนได้มากขึ้น วัสดุดังกล่าวเกิดจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ได้ขับเคลื่อนศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว และเป็นหนึ่งในภาคีที่ร่วมบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อน จากสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด

ศาสตราจารย์ ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา SIIT ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเทคโนโลยี ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนางานก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ช่วยลดโลกร้อน

ศ.ดร. สมนึกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์จะมี การปล่อย CO2 จาก 2 กระบวนการหลัก ได้แก่ กระบวนการเผาวัตถุดิบในอุณหภูมิสูง (Calcination) โดยเฉพาะหินปูน และกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้ดำเนินการในหลายวิธีที่จะช่วยลดการปล่อย CO2 รวมถึงลดการใช้พลังงาน เช่น การปรับเปลี่ยนการผลิตจากแบบเปียก (Wet Process) มาเป็นแบบแห้ง (Dry Process) หรือการใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะ หรือกากของเสียที่ปล่อย CO2 น้อยๆ จากการเผาในเตาเผาเม็ดปูน เป็นต้น
 

สำหรับ  SIIT ได้มีการศึกษาและวิจัย และสนับสนุนการทำงานของภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนาวัสดุก่อสร้างใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน สำหรับ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ได้มีพัฒนากระบวนการผลิต โดยใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ด ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ โดยคุณภาพของปูนซีเมนต์ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด สามารถใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้ นับเป็น
การดำเนินงานที่ชัดเจนของภาคอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย ที่พยายามผลักดันการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเพื่อช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ที่ประมาณ 20-30 ล้านตันต่อปี หากโครงการก่อสร้างต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ก็จะช่วยลดการปล่อย CO2 ไปได้หลายแสนตันต่อปี ในระยะแรกนี้ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่ผลิตออกมา ยังจำกัดอยู่ที่ชนิดการใช้งานทั่วไป ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการพัฒนา ผลิตปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ๆ ที่ลดการปล่อย CO2 ออกมาสำหรับการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจงอีกหลายประเภท เรียกได้ว่า ปัจจุบันวงการอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างของไทยได้มีการพัฒนา และเริ่มดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางสากลในการพัฒนาชนิดปูนซีเมนต์ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อนได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างคงหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ๆ ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดโลกร้อน 

ศ.ดร. สมนึกฯ กล่าวเน้นย้ำว่า “สิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรตระหนักอีกประการหนึ่ง นอกจากการใช้ปูนซีเมนต์ที่ลดโลกร้อนแล้ว นั่นคือ การให้ความสำคัญกับงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุให้เหมาะกับลักษณะการทำงานของสิ่งแวดล้อมและสภาพของพื้นที่  เน้นการให้ได้มาซึ่งโครงสร้างที่มีความคงทน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อย CO2 ได้อีกทางหนึ่งด้วย การพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ๆ สำหรับการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจงที่ลดการปล่อย CO2  ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อย CO2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นหนทางไปสู่การก่อสร้างที่ยั่งยืนต่อไป”