คอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดกลับสู่ภาวะปกติ

ตลาดคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดมีความคึกคักขึ้นมาแบบเห็นได้ชัดโดยเฉพาะช่วงหลังจากปีพ.ศ.2554 เป็นต้นมาที่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่กันมากมายหรือหลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลาง เพราะว่าคนกรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยออกมาหาที่พักเพื่อหลบภัยน้ำท่วมกันนอกกรุงเทพมหานครทำให้โรงแรม รีสอร์ท อพาร์ทเม้นต์ หอพัก รวมไปถึงคอนโดมิเนียมปล่อยเช่าต่างๆ ได้รับความสนใจขึ้นมาแบบมากมาย แม้จะเป็นการเช่าในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม อีกทั้งยังก่อให้เกิดกระแสการหาซื้อคอนโดมิเนียมบ้านจัดสรรในเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงทพมหานครกันมากขึ้น

ทำเลเมืองท่องเที่ยวชายทะเลเป็น 1 ในทำเลยอดนิยมของคนที่ต้องการทั้งบ้านพักตากอากาศและบ้านพักเผื่อเหตุฉุกเฉินแบบเหตุการณ์น้ำท่วมในปีพ.ศ.2554 เมืองท่องเที่ยวชายทะเลจึงเป็นทำเลยอดนิยมที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าไปเปิดขายโครงการกันคึกคัก เมืองใหญ่ที่เป็นเมืองหลักของบางจังหวัดก็เช่นกันที่ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายตบเท้าเข้าไปแย่งลูกค้าจากเจ้าถิ่นเพราะในช่วงเวลานั้นมีข่าวเรื่องของโครงการรถไฟความเร็วสูง ระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ที่ส่งผลให้บางจังหวัดมีความน่าสนใจขึ้นมาทันที เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายเข้าไปเปิดขายโครงการขนาดใหญ่จำนวนหลักพันยูนิตซึ่งเป็นการเข้าไปเพิ่มอุปทานทื่ก่อนหน้านี้ขยายตัวแบบช้าๆ อาจจะไม่กี่ร้อยยูนิตต่อปีนั้นให้ขึ้นพรวดพราดเกินพันยูนิตหรือหลายพันยูนิตภายในไม่กี่เดือน อีกทั้งยังเข้าไปสร้างกระแสการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนให้กับคนในพื้นที่นั้นๆ รวมไปถึงมีการขายให้กับนักลงทุน นักเก็งกำไรในกรุงเทพมหานครที่ต้องการลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดตามกระแสที่หลายฝ่ายช่วยกันโหมกระพือ บางโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่กวาดกำลังซื้อไปหมดทั้งตลาดเลย เพราะต้องไม่ลืมว่าหลายเมืองมีกำลังซื้อที่จำกัดมาก

กระแสการออกไปลงทุนโครงการคอนโดมิเนียมของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่โหมกระหน่ำกันทั้งเร็วและแรงนั้นมีอยู่เพียงแค่ 2 – 3 ปีเท่านั้นพอเข้าปีพ.ศ.2557 ก็เริ่มลดลงแบบเห็นได้ชัด บางโครงการที่เปิดขายหลักพันยูนิตก็ยังคงเหลือขายมาถึงทุกวันนี้ ในขณะที่อีกหลายโครงการต้องยกเลิกการขาย คืนเงินจองหรือว่าค้างเติ่งไปเลยเพราะหาเงินมาคืนให้กับผู้ซื้อไปไม่ได้จะเดินหน้าต่อก็ไม่มีเงินทุน ธนาคารก็ไม่ให้สินเชื่อ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการขายโครงการคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดคือ ต่างจังหวัดไม่มีเส้นทางรถไฟฟ้าแบบที่กรุงเทพมหานครมีราคาที่ดินจึงไม่สูงมาก และการจราจร คมนาคมขนส่งภายในจังหวัดนั้นๆ ก็ไม่ได้ติดขัดเป็นชั่วโมงๆ แบบในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งราคาคอนโดมิเนียมก็ไม่ได้แตกต่างจากราคาบ้านจัดสรรในทำเลใกล้เคียงกันใดนัก บ้านจัดสรรจึงมีความน่าสนใจกว่าในตลาดต่างจังหวัด

โครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในต่างจังหวัดทุกพื้นที่มีจำนวนลดลงมากแบบเห็นได้ชัด ซึ่งเรียกได้ว่าตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแบบที่ควรจะเป็นนั่นแหละ โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายก่อนหน้านี้และเริ่มการก่อสร้างไปจนกระทั่งสร้างเสร็จนั้นก็มีไม่น้อยโดยเฉพาะช่วงระหว่างปีพ.ศ.2555 – 2559 แต่เมื่อผู้ประกอบการหลายรายเริ่มรับรู้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดนั้นไม่ได้ขายง่ายแบบที่พวกเขาคิด ผู้ประกอบการหลายรายยกเลิกโครงการหรือว่าต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อระบายสต็อกที่สร้างเสร็จแล้วกันต่อเนื่อง ตลาดคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดลดความร้อนแรงลงไปตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2557 เป็นต้นมา คอนโดมิเนียมสร้างเสร็จในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาจึงลดลงแบบเห็นได้ชัด โดยจำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จในต่างจังหวัดลดลงมาต่ำกว่า 40,000 ยูนิตต่อปีอีกครั้งในปีพ.ศ.2560 หลังจากที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 40,000 ยูนิตต่อปีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 โดยขึ้นไปเกือบ 80,000 ยูนิตในปีพ.ศ.2558 ซึ่งในปีพ.ศ.2561 ก็มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 40,000 ยูนิต ตลาดคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดอาจจะมีโอกาสกลับมาคึกคักอีกครั้งในบางจังหวัด เมื่อโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในบางจังหวัดเริ่มเป็นรูปธรรมและมีผลทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น และรถไฟฟ้ารางเบาเป็นปัจจัยใหม่ที่มีผลต่อความน่าสนใจของคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัด

บทความโดย :: สุรเชษฐ กองชีพ (จ๊อก) รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย