กางพิมพ์เขียว ! การออกแบบที่ไร้ขอบเขต “รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” โดยสถาปนิกชั้นนำของไทย ที่สุดของความลงตัวระหว่าง “เทคโนโลยี – สาธารณสุข – สิ่งแวดล้อม – ศิลปะ”

กางพิมพ์เขียว ! การออกแบบที่ไร้ขอบเขต “รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร”
โดยสถาปนิกชั้นนำของไทย ที่สุดของความลงตัวระหว่าง “เทคโนโลยี – สาธารณสุข – สิ่งแวดล้อม – ศิลปะ”

เมื่อพูดถึง โรงพยาบาล เรื่องแรกที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น คือ ภาพจำในสมัยก่อนที่หลายคนมองว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ดูอึดอัด อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้บริการ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หลายองค์ประกอบก็ได้รับการพัฒนา ทำให้ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลที่ถูกสร้างขึ้นมีการออกแบบที่สวยงามทั้งภายในและภายนอก เพื่อสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลเป็นมิตรต่อผู้เข้าใช้บริการ รวมถึง เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย และยัง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยบทความในวันนี้จะพาไปเจาะลึกถึงต้นกำเนิดไอเดียการออกแบบหนึ่งใน “โรงพยาบาลโลกอนาคต” ของประเทศไทย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ที่จะเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลสมัยใหม่

“โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMCH) ถูกจัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของ สจล. ภายใต้แนวคิด “ให้เพื่อสร้าง” โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมแห่งแรกของไทย ที่พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยและเป็นศูนย์วิจัยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้คนไทย และความพิเศษของการออกแบบโรงพยาบาลในครั้งนี้ คือ การร่วมมือออกแบบระหว่างทีมสถาปนิกมืออาชีพของไทยไม่ต่ำกว่า 5 ทีม อาทิ ‘ฉัตรชัย ธีระวงษ์ไพโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Design+Develop จำกัด ศิษย์เก่าเบอร์หนึ่งของวงการออกแบบโรงพยาบาล ‘พงษ์เทพ สกุลคู’ ผู้อำนวยการบริษัท August Design Consultant ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมภายใน ฯลฯ ซึ่งปกติการออกแบบอาคารจะใช้สถาปนิกหลักเพียง 1 คนเท่านั้น จึงเกิดเป็นการระดมความคิดด้านสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างโรงพยาบาลที่ผสาน ‘งานศิลปะ’ ร่วมกับ ‘วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี’ จนนำไปสู่อาคารโรงพยาบาลที่สมบูรณ์แบบในที่สุด

ฟื้นฟูผู้ป่วยด้วย “สถาปัตยกรรมเพื่อการเยียวยา” ทั้งภายในและภายนอก

รศ. กุลธร เลื่อนฉวี ประธานบริษัท ที่ปรึกษาคีน จำกัด อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. สถาปนิกวางผังแม่บท กล่าวว่า สจล. ไม่เพียงต้องการสร้าง โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างโรงพยาบาลเป็นแบบอย่างที่มีความสมบูรณ์แบบในทุกมิติ นอกจากได้ประโยชน์ใช้สอยที่ดีในความเป็นโรงพยาบาลแล้ว ยังสมบูรณ์แบบทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ทำให้อาคารเป็นเสมือน “ประติมากรรมลอยตัว” เพื่อช่วยผู้ป่วยในการรักษาตัวและฟื้นฟูในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ด้วยเทคนิคการออกแบบที่เรียกว่า “Healing Architecture” หรือ สถาปัตยกรรมเพื่อการเยียวยา ครอบคลุมทุกองค์ประกอบทั้ง รูป-รส-กลิ่น-เสียง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบภายในที่ถูกออกแบบให้สะอาดทัดเทียมกับโรงแรมระดับห้าดาว พร้อมใช้สีสันและภาพศิลปะเพื่อช่วยเปลี่ยนทัศนคติและอารมณ์ของผู้ป่วยขณะพักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล

อีกทั้งแนวความคิดการออกแบบ “ไร้ขอบเขต” หรือ “Borderless” ที่ผสานธรรมชาติภายนอกอาคารกับความทันสมัยภายในอาคารเข้าด้วยกันด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยซึ่งกำลังเผชิญกับความทุกข์ให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นมิตร ผนังกระจกมุมโค้งแบบเปิดโล่ง ทำให้บรรยากาศภายในอาคารดูร่มรื่น แต่ในขณะเดียวกันยังคงคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยด้วยการออกแบบระแนงไม้ ที่ทำหน้าที่เป็นผิวหนังชั้นที่ 2 ของอาคาร ที่ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวกับผู้อยู่ภายในอาคาร และยังลดการดูดซับความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคารอีกด้วย รวมถึงบริเวณชั้นบนสุดของโรงพยาบาล ยังถูกออกแบบให้เป็นบริเวณพื้นที่สีเขียวในลักษณะ “ลานสีเขียว” พร้อมติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอก นอกจากนี้เทคนิคสถาปัตยกรรมเพื่อการเยียวยายังได้ออกแบบให้ตัวอาคารสามารถรองรับการเติมกลิ่นอโรมาและเสียงดนตรีบรรเลงที่ช่วยในการผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

เน้นดีไซน์โดดเด่น สวยงาม เกิดภาพจำบนถนนมอเตอร์เวย์

นายจีรเวช หงสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิกไอดิน จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสถาปัตยกรรม กล่าวเสริมว่า ด้วยที่ตั้งของโรงพยาบาลอยู่ริมถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ – ชลบุรีสายใหม่ อีกทั้งมีปัจจัยเรื่องความเร็วของ การสัญจรบนถนนดังกล่าว ดังนั้นทีมจึงตีโจทย์ จากความเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ผสานองค์ความรู้ทั้งการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้าด้วยกัน สู่การออกแบบอาคารโรงพยาบาลให้มีลักษณะทาง สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ที่มีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมซ้อนกันสามตัว เพื่อเปิดรับมุมมองทั้งรถขาเข้าและขาออกจากกรุงเทพ การวางสามเหลี่ยมซ่อนทับไปมานี้ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่สามารถแทรกตัวเข้าสู่ภายในอาคารได้ และหากมองในมุมสูงจะเห็นคล้ายเป็นเลข 4 นั้นเป็นเพื่อรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4” อันเป็นพระบรมราชลัญจกร “พระมหาพิชัยมงกุฎ” ของสถาบัน ภาพรวมทั้งหมดของอาคารจึงสร้างริทึมที่สวยงามและง่ายต่อการจดจำสำหรับผู้ที่สัญจรไปมาบนท้องถนนทั้งสองฝั่ง และไม่เพียงแค่ภายนอกเท่านั้นแต่ภายในโรงพยาบาลยังถูกออกแบบให้มีความสวยงามเทียบเท่าโรงแรมและรีสอรท์ชั้นนำเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นมิตรที่ผู้ป่วยทกุช่วงวัยในการฟื้นฟูรักษาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ

ออกแบบโครงสร้างอาคารรับการ “คิด – ผลิตนวัตกรรม”

นายฉัตรชัย ธีระวงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Design+Develop จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบโรงพยาบาล กล่าวว่า นอกจากที่โรงพยาบาลแห่งนี้จะถูกออกแบบด้วยเทคนิค “สถาปัตยกรรมเพื่อการเยียวยา” แล้ว ยังเป็นโรงพยาบาลที่ถูกออกแบบมาอย่างทันสมัยใช้งานได้จริง พร้อมรองรับการทำวิจัยนวัตกรรมในอนาคต ซึ่งหน้าที่หลักของผู้ออกแบบ คือ การเตรียมโครงสร้างอาคารพื้นฐานที่สามารถรองรับการใช้งานผลิตนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น การวางระบบไฟฟ้า ระบบการเชื่อมต่อระดับคลาวด์ (Cloud) ไอเอ (AI) ต่าง ๆ ตลอดจนวางแผนขนาดของพื้นที่ให้สามารถรองรับกับการวางระบบต่าง ๆ สำหรับการวิจัยนวัตกรรม ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีทรัพยากรที่ครบครันสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมี ศูนย์วิจัยนวัตกรรม สำหรับการวิจัยและผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ตัวอาคารยังถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้ป่วย ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เพราะอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อีกทั้ง ศูนย์เวชกรรมฟื้นฟูของโรงพยาบาลนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะ สอดรับกับประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว


ฉายภาพการเป็น โรงพยาบาลแห่งอนาคต ที่พร้อมรักษาจากที่บ้าน

รศ. ดร.ทรงเกียรติ เที้ยธิทรัพย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม สจล. ผู้เชี่ยวชาญการวางผังโครงการ ผู้จัดการทีมออกแบบโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากความพิเศษของงานออกแบบทั้งภายในและภายนอกแล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีความโดดเด่นจากโรงพยาบาลอื่น ที่เน้นการตรวจประกอบการรักษาเฉพาะด้าน เน้นการวิจัยทางการแพทย์เป็นหลัก เน้นเป็นโรงพยาบาลที่พร้อมอยู่กับผู้ป่วยในทุกที่ เสมือนบ้านคือโรงพยาบาลในอนาคต ผ่านการพัฒนา ‘ดิจิทัลเฮลท์’ (Digital Health) นวัตกรรมเพื่อการรักษาที่สามารถสื่อสารหรือติดตามการรักษาจากที่บ้าน (Health Home) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เทเลเฮลท์’ (Telehealth) อาทิ เครื่องตรวจออกซิเจน อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมทางการแพทย์จากทุกคณะของ สจล. (Showroom of KMITL Innovation) บริเวณชั้น 3 ของอาคารโรงพยาบาล เพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันผลงานของนักวิจัยแก่บุคคลภายนอกที่สนใจอีกด้วย

ด้าน ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวทิ้งท้ายว่า โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร หรือ KMCH นับเป็นโรงพยาบาลแห่งโลกอนาคตที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของโรงพยาบาลในยุคเก่า ไม่ว่าจะเป็น ข้อจำกัดด้านการเข้าถึง ข้อจำกัดด้านค่ารักษาพยาบาล ข้อจำกัดด้านเวลา และที่สำคัญ ข้อจำกัดทางด้านนวัตกรรม เพื่อให้โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ได้เป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมแห่งแรกในประเทศไทย ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคนไทย ให้คนไทย เพื่อคนไทย ผู้สนใจสามารถร่วม #ให้เพื่อสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ในช่องทางต่าง ๆ ได้ ทั้ง กดบริจาคตามจิตศรัทธา เข้าบัญชีมูลนิธิฯ เลขที่ 693-0-32393-4 กดบริจาค 100 บาท เพียงกด *948*1960*100# และโทรออก ซื้อเสื้อให้เพื่อสร้าง ในราคาตัวละ 299 บาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) ได้ที่ www.kmchf-pp.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL ไลน์ไอดี @KMITLHospital หรือโทร. 092-454-8160 และ 092-548-2640