Property Movement Ep2 : เรื่องมาม่า (ดราม่า) ในแวดวงอสังหาฯ ที่แท้ทรู

เรื่องมาม่า (ดราม่า) ในแวดวงอสังหาฯ ที่แท้ทรู

เมื่อ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยกำลังพุ่ง!

เมื่อแบงก์ชาติส่งสัญญาณเริ่มคุมเข้มแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ที่อยู่อาศัย เรื่องมาม่า (ดราม่า) ที่แท้ทรูของวงการอสังหาฯ ก็กำลังจะเริ่ม…. จับตาทั้งลูกค้ากู้ 100% และผู้ประกอบการโปรแรง ใครกินมาม่าก่อนกัน

เป็นข่าวโด่งดังไปเมื่อวันก่อนที่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัท เพรซิเดนท์ ดี เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 70% ของทุนจดทะเบียน จะเข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) (ANAN) บริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เจ้าดังทำเอาหลายคนถึงกับ อ้าว!!!! มาม่ามาทำอสังหาแล้วเหรอ หรือบ้างก็ว่าต่อไปเราจะได้เห็นโปรซื้อบ้านแถมมาม่า เอ๊ะ! หรือซื้อคอนโดต้องกินมาม่าแทนข้าวหรืองัย แต่โอกาสทางเลือกและทางรอด จะต้องกินมาม่ากันต่อหรือไม่นั้น เรื่องนี้น่าสนใจมากกว่าเมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ออกมาบอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความห่วงใยความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยกันสูง!

โดยแบงก์ชาติ ก็มีความเป็นห่วงว่าการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่สูง อาจจะเกิดการหย่อนยานในมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ จนก่อให้เกิดปัญหา ผู้กู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิด ปัญหาหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในอนาคต เหตุอันใดที่แบงก์ชาติต้องออกมาเตือนสถาบันการเงินเช่นนี้ ก็เพราะพบสัญญาณการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 หลังที่ 3  หรือการซื้อเพื่อการเก็งกำไรกันมากขึ้นนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ จัดแคมเปญการตลาดชนิดที่เรียกว่าโปรแรง!!! ล่อตาล่อใจลูกค้า นักเก็งกำไร เมื่อไหร่ที่เราได้เห็นโปรแรง หิ้วกระเป๋าอยู่ฟรี ลดแลกแจกแถม กู้เกิน 100% จริงๆ ก็เป็นสัญญาณทางฝั่งของผู้ประกอบการที่ต้องการระบายของเช่นกัน กอร์ปกับสถานการณ์ที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ผู้กู้ในแบบเกินราคาบ้าน เกินราคาหลักประกัน ทั้งที่ผู้ซื้อไม่มีกำลังเพียงพอ  จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ จนนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้จากภาคอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นนั่นเอง

ซัพพลายส่วนเกินของผู้ประกอบการที่มีมาก  NPL จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่แปลกที่แบงก์ชาติจะเรียกผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์มาหารือเพื่อหามาตรการควบคุม ก่อนที่ยอดหนี้จะพุ่ง จนทำให้ต้องต้มมาม่ากินกันทั้งฝั่งคนซื้อคนขาย แต่ฝั่งคนขายคงไม่เท่าไหร่ เพราะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ พวกบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทมหาชนนั้นหาทางรอดได้ไม่ยาก ในเมื่อเครื่องมือทางการเงินมีเยอะแยะมากมายที่จะเอาตัวรอด ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางนี่ก็คิดหนักหน่อย เพราะฐานทุนที่น้อยกว่าจะขยับอะไรก็ยาก “มาม่า” ที่จะเกิดจากฝั่งผู้ประกอบการในวันนี้ ก็คงเป็น “ดราม่า” โอดครวญแบงก์ชาติกันมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ว่านโยบายควบคุมจะเป็นอย่างไรต่อ แบงก์พาณิชย์เองจะต้องเข้มการปล่อยกู้กันขนาดไหน นี่แหละนะ เรื่องมาม่า (ดราม่า) ที่แท้ทรูของวงการอสังหาฯ ในห้วงเวลานี้

บทความโดย Prop Investor : Index21