แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีนี้คาดจะมีโครงการใหม่ออกสู่ตลาดประมาณ 10,000 – 12,000 ยูนิตแต่ยังคงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เร่งเปิดขายโครงการใหม่กันมากนักและยังคงมองเรื่องของกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาจากปีก่อนหน้านี้แบบชัดเจน ดังนั้น ปัจจัยที่จะมีผลต่อการปิดขายโครงการใหม่ในไตรมาสที่ 2 คือภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 และแนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ที่ต้องมีการขยายตัวต่อเนื่องกันในระยะยาวด้วย
ปัจจัยเรื่องของวันหยุดยาวที่ต่อเนื่องในช่วงสงกรานต์ และเดือนพฤษภาคม วันหยุดภาคเรียนของนักเรียนและการเปิดเทอมใหม่ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจเพราะมีผลต่อกำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อที่มีลูกหลานในวัยเรียน โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ.2561 จึงอาจะไม่ได้แตกต่างจากไตรมาสที่ 2 ของปีก่อนหน้านี้เท่าใดนัก
คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 รายปีตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 เป็นต้นมา
คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 เฉลี่ย 7 ปีอยู่ที่ประมาณปีละ 11,400 ยูนิต ซึ่งจากสถิติที่เก็บรวบรวมมาจะพบว่าคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 ของแต่ละปีอยู่ที่ประมาณปีละ 10,000 – 12,000 ยูนิตมีบางปีที่มากกว่าและน้อยกว่าด้วยปัจจัยต่างๆ ที่มีผล ณ เวลานั้น สำหรับไตรมาสที่ 2 ปีนี้จึงคาดว่าผู้ประกอบการก็ยังคงไม่ได้โหมเปิดขายโครงการใหม่กันมากมายแบบที่เกริ่นไปแล้ว จำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 จึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 12,000 ยูนิตใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้
ยกเว้นถ้าผู้ประกอบการมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจหรือว่ามั่นใจในกำลังซื้อของคนไทยรวมไปถึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มยอดขายของตนเองก็อาจจะมีจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่แตกต่างจากปีก่อนหน้านี้แต่ก็คงไม่มากนักอาจจะประมาณ 5 – 10% เท่านั้น อีกทั้งผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดขายโครงการใหม่เพียงอย่างเดียวแต่ยังคงให้ความสำคัญกับการขายโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์หรือว่าโครงการที่มีกำหนดการสร้างเสร็จในปีนี้หรือว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ เพราะคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการขายและสร้างเสร็จแล้วหรือว่ามีกำหนดการสร้างเสร็จในอีกไม่กี่เดือนนี้มีจำนวนประมาณ 25,000 ยูนิตและอีกมากกว่า 20,000 ยูนิตที่มีกำหนดการสร้างเสร็จในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการยังคงให้ความสนใจหรือว่ายังคงจับตามองแบบต่อเนื่องคือการฟื้นตัวของกำลังซื้อที่อาจจะยังคงมีสัญญาณไม่ชัดเจนหรือว่ายังคงไม่มั่นใจในระยะยาว อีกทั้งความวิตกกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเข้ามากดดันทั้งฝั่งของผู้ประกอบการและฝั่งของผู้ซื้อที่ยังคงต้องอาศัยการขอสินเชื่อจากทางธนาคารอยู่
ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนตลาดแบบต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายเล็กหรือว่าหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้นก็ตาม แต่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครนั้นยังคงขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นสำคัญ อัตราการขายของคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2561 อยู่ที่ประมาณ 55% ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้เลย แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตามซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ากำลังซื้อคนไทยยังไม่มั่นใจในระยะยาว แต่ถ้าการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาและในอนาคตก็จะส่งผลให้ผู้ซื้อคนไทยมีความมั่นใจและกล้าซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นภาระหนี้สินในระยะยาวมากกว่าปัจจุบันแน่นอน ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้คนไทยจำเป็นต้องรีบตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยให้เร็วขึ้นก่อนที่ราคาจะปรับเพิ่มไปมากกว่าในปัจจุบัน